หัวหน้าสาขา

 

You are here

Home » เกี่ยวกับสาขา

ประวัติและข้อมุลทั่วไป

สาขาวิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการธุรกิจเกษตร

ข้อมูลทั่วไป

  • ชื่อหลักสูตร : หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการธุรกิจเกษตร
  • ชื่อภาษาอังกฤษ : Bachelor of Science Program in Agricultural Development and Agribusiness Management
  • ชื่อปริญญาและสาขาวิชา : วิทยาศาสตรบัณฑิต
  • ชื่อย่อภาษาไทย : วท.บ. (พัฒนาการเกษตรและการจัดการธุรกิจเกษตร)
  • ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ : Bachelor of Science(Agricultural Development and Agribusiness Management)
  • ชื่อย่อภาษาอังกฤษ : B.Sc. (Agricultural Development and Agribusiness Management)

ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ปรัชญา

"ผลิตบัณฑิตด้านการพัฒนาการเกษตรและการจัดการธุรกิจเกษตรที่มีความรู้ ความสามารถทางวิชาการในด้านนี้และมีคุณธรรม จริยธรรม"

 

ความสำคัญ

              การผลิตบัณฑิตสาขาเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการผลิตบัณฑิตเฉพาะทางด้านการผลิตสาขาต่างๆ หลักสูตรดังกล่าวมีจุดแข็งคือ บัณฑิตมีความรู้ความสามารถลึกซึ้งด้านการผลิตเฉพาะทาง แต่มีข้อจำกัดคือ ขาดความกว้างของสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ การวางนโยบายและวางแผนการผลิตมักไม่สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรของชาติและของโลก ขาดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ ด้านการตลาดและการจัดการธุรกิจเกษตร ข้อจำกัดนี้ส่งผลต่อการมีงานทำของบัณฑิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบอาชีพอิสระทางการเกษตร

        ในการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการธุรกิจเกษตร นอกจากบัณฑิตจะได้ศึกษาด้านการผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังได้เสริมสร้างความสามารถเชิงการตลาด ความสามารถในการจัดการความรู้ที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่น ความสามารถในการประกันความปลอดภัยของอาหารต่อผู้บริโภค ความสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมบูรณ์อย่างเพียงพอต่อศักยภาพการผลิตและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคความสามารถในการจัดการปริมาณและคุณภาพของสินค้าเกษตรให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดและศักยภาพในการผลิตที่ธรรมชาติจะรองรับได้ ตลอดทั้งการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารให้ผู้บริโภคและบุคคลทั่วไป ได้รับทราบเกี่ยวกับผลผลิตต่างๆ ที่เกษตรกรผลิตได้

      การจัดทำหลักสูตรใหม่นี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นทางเลือกใหม่ให้นักศึกษาที่รักและสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์สาขานี้ ได้มีขีดความรู้ ความสามารถ พร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ในอนาคตทางการเกษตรได้ โดยได้จัดให้มีรายวิชาศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ที่สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีวิชาชีพพื้นฐานที่ช่วยให้บัณฑิตมีศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์ด้านต่าง ๆ มีวิชาชีพบังคับที่สร้างบัณฑิตให้มีพื้นฐานพร้อมที่ทำงานด้านการเกษตรทุกสาขา มีวิชาชีพเลือกที่นักศึกษาต้องมีความรู้ทั้งด้านการพัฒนาการเกษตร และด้านการจัดการธุรกิจเกษตร ตลอดทั้งการมีวิชาเลือกเสรีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างเสรีได้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามนโยบายการจัดการศึกษาของชาติ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  • เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร การส่งเสริมเผยแพร่นิเทศศาสตร์เกษตร และวิทยาการด้านการจัดการธุรกิจเกษตร บนพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้
  • เพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถบูรณาการความรู้และทักษะการปฏิบัติด้านการเกษตร การส่งเสริมเผยแพร่ นิเทศศาสตร์เกษตรและการจัดการธุรกิจเกษตร ตลอดจนวิชาการที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอที่สามารถนำไปปฏิบัติงานได้
  • เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความใฝ่รู้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง
  • เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม ความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์สุจริตความขยันหมั่นเพียร ความสำนึกในจรรยาบรรณวิชาชีพ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่และสังคมตลอดจนธำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

            นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการธุรกิจเกษตรสามารถประกอบอาชีพได้หลายอาชีพ เนื่องจากหลักสูตรนี้ได้ บูรณาการความรู้ด้านการเกษตร คือ พืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ และประมง เข้าด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีรายวิชาที่ต้องเรียนเกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมการเกษตร การสื่อสาร การจัดการธุรกิจเกษตร และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ดังนั้นนักศึกษาที่จบสาขานี้แล้ว สามารถประกอบอาชีพต่อไปนี้คือ

  • ประกอบกิจการฟาร์มของตนเอง
  • นักวิชาการเกษตรในฟาร์ม
  • ผู้จัดการฟาร์ม
  • เจ้าหน้าที่ทีมปรึกษาด้านการทำฟาร์ม
  • ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
  • นักธุรกิจด้านการเกษตร
  • เจ้าหน้าที่ธนาคารที่รับผิดชอบงานสินเชื่อเกษตร
  • เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มเกษตรกร
  • เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรหรือประมงของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • นักพัฒนาในหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักพัฒนาและนักส่งเสริมในองค์กรพัฒนาเอกชน
  • ผู้ผลิตสื่ออิสระ
  • นักจัดรายการวิทยุ และโทรทัศน์
  • นักเขียนคอลัมน์วิทยาการเกษตรในหนังสือพิมพ์ต่างๆ

สถานที่จัดการเรียนการสอน

คณะเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช